439 Views |
1. โรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคแบบเรื้อรังรักษาให้อยู่ในระยะสงบได้ ดังนั้นต้องติดตามการรักษาเป็นเวลานาน ถ้าโรคกำเริบเป็นเวลานานจะทำให้เกิดข้อกระดูกสันหลังติดยึดและข้อรยางค์ผิดรูป
2. สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด การศึกษาพบว่าเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมประกอบกัน ได้แก่ ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ การบาดเจ็บของบริเวณจุดเกาะของเอ็นกับกระดูก เป็นต้น และพบว่าการสูบบุหรี่ ทำให้โรครุนแรง ดังนั้นควรหยุดสูบบุหรี่
3. การรักษาประกอบด้วย 2 ส่วนประกอบกันคือ การรักษาที่ไม่ใช้ยาและการรักษาที่ใช้ยา
4. การรักษาที่ไม่ใช้ยา ผู้ป่วยควรได้รับทุกราย ที่สำคัญคือให้คำแนะนำให้เข้าใจโรค การดูแลตนเอง การออกกำลังกายและยาที่อาจใช้ ตัวอย่างคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายมีดังนี้
- เนื่องจากความพิการของโรคนี้เกิดทั้งกระดูกสันหลังที่ติดยึดโดยเกิดได้แม้ไม่มีอาการปวด และข้อรยางค์ติดยึดผิดรูปหรือถูกทำลาย การออกกำลังกายและการปรับท่าทางให้ดีตลอดเวลาจะช่วยให้การเคลื่อนไหวของหลังดีขึ้น ลดความพิการของข้อ ลดอาการปวด ช่วยให้มีร่างกายแข็งแรงขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควรทำด้วยตนเองที่บ้านหรือขณะทำงาน ควรออกกำลังกายให้เต็มพิสัยการเคลื่อนไหวข้อและกระดูกสันหลังทุกวันแม้จะไม่มีอาการปวด
- การจัดท่าให้ถูกสุขลักษณะในการใช้ชีวิตประจำวัน คือหลังตรงขณะเดินนั่ง หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนหลังงอเป็นเวลานานเพราะจะทำให้หลังติดในท่าหลังโก่งงอ เวลานอนถ้าหลังยังไม่ผิดรูปให้นอนหงายบนที่นอนที่ค่อนข้างแข็งและหมอนแบน เพื่อลดกระดูกสันหลังผิดรูป
- การออกกำลังกาย หลักการคือ การเคลื่อนไหวเต็มพิสัยทุกทิศทางวันละหลายครั้ง ได้แก่ กระดูกสันหลังให้บริหารทีละส่วน เช่น คอและเอวให้มีการเคลื่อนไหวเต็มพิสัยทุกทิศทางทั้งก้ม เงย เอียงข้างและหมุนซ้ายและขวา สำหรับข้อรยางค์ให้ขยับข้อทุกข้อให้เคลื่อนไหวเต็มพิสัยของการเคลื่อนไหว และออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้ออาจประคบร้อนก่อนออกกำลังกาย ถ้ากระดูกสันหลังเริ่มติดยึดต้องหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีโอกาสชนกระแทกหรือมีการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังอย่างรวดเร็วเพราะจะทำให้กระดูกสันหลังที่ยึดติดหักได้ สำหรับผู้ที่ไม่มีการติดยึดของกระดูกสันหลังสามารถค่อยๆ เพิ่มออกกำลังกายใดก็ได้ การออกกำลังกายอื่นที่มีการศึกษาว่าได้ประโยชน์ ได้แก่ ว่ายน้ำ ไท้เก็ก
5. การรักษาทึ่ใช้ยาประกอบด้วยยา 2 กลุ่ม ยาควบคุมอาการปวดโดยจะออกฤทธิ์ทันทีและหมดฤทธิ์เมื่อหยุดกิน เมื่ออาการปวดลดลงแล้วให้ค่อยๆ หยุดยากลุ่มนี้ได้ อีกกลุ่มหนึ่งคือยาที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค จะลดการทำลายข้อและทำให้โรคเข้าสู่ระยะสงบ ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์หลังกินยา 1 เดือน และออกฤทธิ์เต็มที่ประมาณ 3 เดือนเมื่อหยุดยา ยาจะยังมีฤทธิ์ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ยากลุ่มนี้ควรกินตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เมื่อมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์
ข้อมูลจาก
รศ.พญ. ปวีณา เชี่ยวชาญวิศวกิจ