442 จำนวนผู้เข้าชม |
การเป็นตะคริว (Muscle cramp) เกิดจากการเกร็งชั่วคราวของมัดกล้ามเนื้อทั้งหมด ขณะที่มีการหดตัวทำใหักล้ามเนื้อมัดนั้นมีลักษณะแข็งเป็นลูก และเจ็บปวดมาก อาการเกร็งของตะคริวกล้ามเนื้อเกิดขึ้นนอกเหนืออำนาจจิต และเกิดขึ้นเป็นเวลาไม่นานก็จะหายไปเอง แต่อาจกลับเป็นซ้ำที่เดิมขึ้นมาอีกก็ได้ในบางครั้งกล้ามเนื้ออาจเป็นตะคริวพร้อมกันหลายๆ มัดได้ สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่
1. กล้ามเนื้อขาดการฟิตซ้อม หรือฟิตซ้อมไม่เพียงพอมาก่อนที่จะใช้งานอย่างหนัก
2. สภาวะแวดล้อมของอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแวดล้อมที่หนาวเย็น และร่างกายไม่คุ้นเคยต่อสภาพนั้นมาก่อน
3. ร่างกายขาดเกลือแร่บางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียม
4. การใช้ผ้ายืดหรือสนับแข้ง โดยใช้ผ้ายืดพันหรือรัดลงไปบนกล้ามเนื้อค่อนข้างแน่นขณะที่มีการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อขยายตัวหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ และยังเป็นการจำกัดเลือดที่หล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อให้ลดลง เพราะในการทำงานหรือออกกำลัง กล้ามเนื้อมีความจำเป็นต้องได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงมากกว่าปกติ เมื่อเลือดมาหล่อเลี้ยงน้อยลงก็เป็นเหตุให้เกิดตะคริวได้
วิธีป้องกันแก้ไข คือ
1. พยายามหลีกเลี่ยงจากเหตุดังกล่าว
2. แก้ไขปรับปรุง ในกรณีที่ฟิตซ้อมน้อยไป ด้วยการฝึกฝนการใช้งานให้มากขึ้น
3. พยายามให้กล้ามเนื้อกลับไปอยู่ในท่าคลายตัวกลับทางกับท่าที่ให้กล้ามเนื้อมัดนั้นหดตัวโดย
3.1 หยุดการออกกำลัง หรือใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นทันที โดยการพัก
3.2 เหยียดหรือคลายกล้ามเนื้อมัดนั้นช้าๆเพื่อให้กลับทางกับท่าที่ทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นหดตัว โดยผู้ที่ปฐมพยาบาลจะต้องระมัดระวังและกระทำด้วยความนุ่มนวล ไม่รุนแรง หรือใช้กำลังในการเหยียดหรือคลายกล้ามเนื้อมากเกินควร หากมีการฝืนหรือต้านกำลังมาก อาจเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อมัดนั้นได้
ตัวอย่างเช่น เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อน่อง จะพบว่ามีอาการคือเกร็งที่กล้ามเนื้อน่อง คลำบริเวณน่องจะแข็งเป็นลูก เจ็บที่กล้ามเนื้อน่องมา ใช้งานที่ขาข้างนั้นไม่ได้และปลายเท้าข้างนั้นจะเหยียดตรง
การปฐมพยาบาล
1. หยุดพักการออกกำลังทันที ถ้ามีเครื่องพันธนาการ เช่นสนับเข่า หรือผ้ายืดรัดอยู่ได้ปลดออกทันที
2. ให้ผู้ป่วยนอนราบ งอสะโพก 90 องศา งอเข่า 90 องศา
3. ค่อยๆ ดันปลายเท้าให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ทำช้าๆ ขณะที่ข้อเท้ากระดกขึ้นนั้น กล้ามเนื้อน่องจะค่อยๆคลายตัวออกหรือยืดออก
4. ประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน หรือถูนวดเบาๆด้วยน้ำมันร้อนๆเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้ไปยังบริเวณนั้นมากขึ้น
ข้อมูลจาก
ผศ. รำแพน พรเทพเกษมสันต์