ยังไม่แก่... ก็เป็นข้อเสื่อมได้จริงหรือ?

410 Views  | 

ยังไม่แก่... ก็เป็นข้อเสื่อมได้จริงหรือ?

        คนส่วนใหญ่มักคิดว่า โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมที่พบในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมีสาเหตุมากมายที่ส่งผลให้เป็นข้อเสื่อมได้แม้ว่ายังไม่แก่ ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ ความอ้วน การบาดเจ็บของข้อต่างๆ ลักษณะอาชีพ การทำงานหรือกิจกรรมการออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงยาสเตียรอยด์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อเสื่อมขึ้นได้

        โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นภาวะความเสื่อมของผิวกระดูกอ่อน (Cartilage) และกระดูกที่ประกอบเป็นข้อ ที่เป็นกันมากๆ คือ โรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม ทำให้เกิดอาการปวดเวลาที่เคลื่อนไหว ลุกหรือนั่ง หากเป็นมากก็อาจมีอาการปวดขณะอยู่นิ่งๆ ร่วมด้วยได้

        คนส่วนใหญ่มักคิดว่า โรคข้อเสื่อมจะเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เกิดจากการที่ผิวข้อเริ่มสึกหรอตามวัย กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรงน้อยลง กระดูกอ่อนบางลง แต่ปัจจุบันพบว่า คนวัยกลางคนที่มีความเสี่ยงต่างๆเช่น ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานาน สูบบุหรี่ และได้รับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน บางคนมีประวัติการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์บาดเจ็บบริเวณข้อมาก่อน ก็ส่งผลให้เกิดภาวะของกระดูกสะโพกตายมากขึ้น และเกิดเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นคนอายุน้อยๆอย่าพึ่งนิ่งนอนใจไป คนอายุน้อยๆ ที่เล่นกีฬาหนักก็มีโอกาสที่จะพบกับความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ทำให้เกิดอาการข้อเสื่อมได้ไว เนื่องจากมีการกระแทกบริเวณเข่ามากกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของผิวกระดูกอ่อนได้ง่ายขึ้น

        นอกจากนี้ การบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกและเส้นเอ็นบริเวณเข่า ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะข้อเข้าเสื่อมได้ไวกว่าคนทั่วไป จากการศึกษาวิจัยพบว่า ประมาณ 50% ของบุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยว่าบาดเจ็บบริเวณเข่า หมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด เส้นเอ็นในเข่าฉีกขาด มักจะเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ดังนั้นควรเลือกกิจกรรมหรือกีฬาที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเสี่ยงการเกิดข้อเสื่อม กีฬาที่เหมาะสมก็มีหลายประเภท เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถทำการเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อได้โดยที่ไม่กระแทกข้อเข่ามากเกินไป

        ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน บุคคลที่ทีน้ำหนักเกินโดยเฉพาะที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) เกิน 40 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งคิดจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งมักจะเป็นบุคคลที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดภาวะการบาดเจ็บของข้อได้ง่ายขึ้น ทีมงานวิจัยพบว่า คนที่มีภาวะอ้วนมีความสัมพันธ์กับโอกาสที่จะเป็นภาวะข้อเสื่อมได้เช่นกัน

        เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคข้อเสื่อม แนะนำให้รักษาแต่เนิ่นๆ การรักษาประกอบไปด้วย

  • การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด ใช้รักษาโรคข้อเสื่อมในระยะแรกๆ
  • การรักษาโดยการกินยาลดอาการอักเสบ แก้ปวด บำรุงข้อ
  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ลดน้ำหนัก รวมถึงการทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscle Strengthening Exercise) และลดข้อติดแข็ง เพื่อลดอาการปวด
  • เลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม โดยควรเลือกจำพวก Low Impack Aerobic Exercise หรือการออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทกต่อข้อมากๆ เข่นว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดินเร็ว โยคะ
  • ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการฉีดยาลดอาการอักเสบหรือยาบำรุงเข้าไปในข้อ
  • สุดท้ายหากยังไม่ดีขึ้น การรักษาขั้นสุดท้ายคือ ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียม ซึ่งจะใช้ในผู้ป่วยข้อเสื่อมที่มีอาการมาก หรือข้อผิดรูปจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

        เมื่อทราบดังนี้แล้ว บุคคลที่อายุน้อยจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะข้อเสื่อมได้ ไม่ว่าจะเป็นหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของข้อ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดการกินยาสเตียรอยด์และแอลกอฮอล์ลง เมื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้ได้ โอกาสที่จะเกิดข้อเสื่อมก่อนวัยอันควรก็จะลดลงได้

Tips and Tricks
มาสำรวจอาการเบื้องต้นกันว่า อาการอย่างไรที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคข้อเสื่อม

  •  เจ็บบริเวณข้อเรื้อรัง
  • รู้สึกตึงหรือขัดๆ ฝืดๆ บริเวณข้อ เช่น ข้อเข่าหรือข้อสะโพก
  • ปวดข้อเวลาเคลื่อนไหว ขยับตัว เดิน นั่ง หรือเหยียดและงอ
  • ปวดสะโพกหรือเข่าเมื่อพยายามลุกจากที่นั่ง ขึ้นลงบันไดไม่สะดวก
  • มีอาการปวดขัด เสียดสีในข้อ หรือมีเสียงลั่นในข้อ
  • ในรายที่เป็นมากๆ แม้แต่นั่งเฉยๆ ก็มีอาการปวดได้ บางครั้งข้ออักเสบจนขยับไม่ได้
  • ถ้าอาการเป็นมากและรุนแรง กระดูกจะยุบตัวลง ทำให้สังเกตเห็นได้ชัดเจนเวลาเดิน
  • ถ้าหากใครมีอาการข้างต้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

ข้อมูลจาก
นายแพทย์พนธกร พานิชกุล
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้