ปวดคอ อาจเป็นสัญญาณอันตราย

415 Views  | 

ปวดคอ อาจเป็นสัญญาณอันตราย

        อาการปวดคอ พบได้บ่อยทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือก้มหน้าเล่นมือถือเป็นเวลานานๆ หรือเกร็งคอเป็นเวลานานมากเกินไป มักพบในคนที่มีความเครียด อ้วน นอนไม่หลับ นั่งนานๆ เช่นทำสวน ขายของชำ และเล่นกีฬา บางประเภทเช่น เทนนิส กอล์ฟ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการมักจะค่อยๆ หายไปเอง หลังจากได้พักให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง

        แต่อาการปวดคอในผู้สูงอายุมักมีสาเหตุจากกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมและขาดการยืดหยุ่น รับน้ำหนักได้ไม่ดีเหมือนเดิม อาจมีข้อกระดูกคอเสื่อม อักเสบ หมอนรองกระดูกอาจปลิ้นตัวออกมากดทับเส้นประสาท หรืออาจเกิดจากกระดูกอ่อนเสื่อมสลายไปทำให้กระดูกสันหลังบดเบียดกันเอง นานๆ เข้ากลายเป็นกระดูกงอกออกมากดทับเส้นประสาทได้เช่นกัน ทำให้เกิดอาการปวดจากเส้นประสาทถูกเบียดหรือกดทับ บางรายอาจมีอาการชาตามต้นคอลงมาตามแขนซึ่งอาจทำให้แขนอ่อนแรงได้ บางรายอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนได้

        สัญญาณอันตรายที่มีอาการปวดคอร่วมด้วย อย่างเช่น ปวดกลางคืน ปวดขณะพัก ปวดกระดูก ปวดรุนแรง มีอาการชาร่วมด้วย อาการร่วมอื่น อาทิเช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้สูงหรือไข้เรื้อรัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ใช่มือไม่ได้ตามปกติ หรือไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้

        อาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุอื่นที่อาจพบอาการปวดคอร่วมด้วยได้ในผู้สูงอายุ อันได้แก่ ภาวะโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ การติดเชื้อวัณโรค มะเร็งกระดูกสันหลัง และอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุหลักหรือสาเหตุอื่น อาการปวดคอในผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นจากแพทย์เสียก่อน ทั้งนี้เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและตรวจค้นหาภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ อาจทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการและตรวจทางรังสีเพิ่มเติม แพทย์จะได้วางแผนการรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสม และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นตามมา

        การรักษาบรรเทาอาการปวดคอ ในกรณีที่แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุอื่น นอกจากภาวะกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม รายที่มีอาการไม่รุนแรงอาจบรรเทาอาการได้ด้วยยาพาราเซตามอล หากตรวจพบว่ามีอาการปวดคอรุนแรงและมีการอักเสบร่วมด้วย แพทย์อาจให้ยาลดการอักเสบร่วมด้วย หากมีอาการปวดเกร็งบริเวณ คอ บ่า ไหล่ ซึ่งอาจจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยได้ รายที่อาการปวดมากเวลาขยับคออาจให้ยาคลายกล้ามเนื้อ และทำกายภาพบำบัดโดยประคบร้อน และตึงคอร่วมด้วย การบีบนวดบริเวณกล้ามเนื้อบริเวณคอก็สามารถบรรเทาอาการได้เช่นกัน ส่วนการผ่าตัดเป็นวิธีสุดท้ายที่อาจใช้เฉพาะรายที่มีการกดเส้นประสาทและผ่านการรักษาโดยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น

        การป้องกันอาการปวดคอไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ หรือปวดเรื้อรัง ต้องหมั่นบริหารให้กล้ามเนื้อคอให้มีความแข็งแรง หลีกเลี่ยงการนั่งหรือก้มหน้าเป็นเวลานานๆ ควรเลือกหมอนไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป ท่านอนที่ถูกต้องคือให้คออยู่ระดับเดียวกันกับศีรษะจะป้องกันการตกหมอนได้

        อาการปวดคอในผู้สูงอายุ อาจเป็นอาการนำของโรคอื่นๆ ที่ตัวผู้สูงอายุเอง ญาติที่ดูแลใกล้ชิด และแพทย์ประจำ ต้องร่วมกันค้นหาต้นเหตุสำคัญที่อธิบายอาการปวดคอนั้นได้ การรับประทานยาแก้ปวด ยาแก้การอักเสบ นวดประคบร้อน บรรเทาอาการปวดได้ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มสุรา นอนหลับสบาย ไม่มีความเครียด หากทำทุกอย่างแล้วไม่ได้ผลหรือปวดคอเรื้อรัง หรือตรวจพบสัญญาณอันตรายตามที่กล่าวแล้วข้างต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

ข้อมูลจาก
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้