การบำบัดโรคข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ใช้ยา

605 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การบำบัดโรคข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ใช้ยา

1. ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทุกรายควรได้รับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการรักษา ความสำคัญในการเปลี่ยนลักษณะความเป็นอยู่ การออกกำลังกาย การทำกิจกรรม การลดน้ำหนัก และวิธีการอื่นๆ เพื่อลดแรงกระทำที่ข้อ กระตุ้นให้ผู้ป่วยเรียนรู้การจัดการตนเอง และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม
2. ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 23 กก./ตรม. ให้ลดน้ำหนักลงในระดับใกล้เคียงมาตรฐานหรืออย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวขณะที่มีอาการปวดข้อ
3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อรวมทั้งให้ออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจนที่มีแรงกระแทกต่ำ (low impact aerobic exercise)
4. สนับเข่าที่มีแกนด้านข้าง หรือใช้อุปกรณ์พยุงเข่า (knee brace/support) สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีพยาธิสภาพในช่องเข่าด้านเดียว (unicompartment) ผู้ป่วยมักมีข้อเข่าไม่มั่นคง ทั้งเข่าโก่ง (genu varus) หรือเข่าฉิ่ง (genu valgus) ที่ยังไม่ถึงระดับรุนแรง (K-L น้อยกว่าระดับ 3)
5. ใช้การฝังเข็มเป็นการรักษาร่วม (adjunctive therapy) เพื่อบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

        ส่วนการใช้แผ่นรองในรองเท้า (heel wedge) ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมช่องด้านในและด้านนอกที่มีอาการนั้นยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการสนับสนุนหรือคัดค้านการใช้แผ่นรองในรองเท้า อย่างไรก็ตามแนวปฏิบัติของไทย ฉบับนี้คัดค้านการใช้เทปตรึงสะบ้า (patella taping)

        นอกจากแนวทางปฏิบัติของสมาคมและองค์กรที่มีชื่อเสียง และให้ความสนใจในการนำเสนอข้อแนะนำสำหรับการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมดังกล่าวข้างต้นแล้ว Nelson และคณะ ได้ทบทวนวารสารอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติในการบำบัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ตีพิมพ์ช่วงปี ค.ศ. 2000-2013 จำนวน 16 ฉบับ พบว่าวิธีการไม่ใช้ยาที่แนะนำทั่วไปอย่างกว้างขว้าง คือ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับตัวโรคและแนวทางการปฏิบัติตน การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก หากมีน้ำหนักตัวมากเกิน การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินหากมีความจำเป็น รวมทั้งการใช้ความร้อนบำบัด

        ในแต่ละแนวทางปฏิบัติให้คำแนะนำที่หลากหลายแตกต่างกันไป ตามหลักฐานที่ผู้วิจัยสามารถหาได้ อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาโรคเข่าข้อเสื่อมที่เป็นที่ยอมรับหรือเห็นพ้องต้องกันในทุกๆแนวทางปฏิบัติ คือการให้คำแนะนำถึงการดำเนินโรคและแนวทางปฏิบัติตัว การออกกำลังกายทั้งบนบก ในน้ำ และการออกกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรง

ข้อมูลจาก
รศ.พญ. วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้