543 จำนวนผู้เข้าชม |
นักวิ่งหลายๆท่าน คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า "วิ่งเยอะๆ ระวังเข่าเสื่อมนะ" กันมาบ้าง เรื่องนี้เป็นความเชื่อยอดฮิตของการวิ่งเลย ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้นแต่เป็นกันทั่วโลก เพราะคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการวิ่งนั้นมีแรงกระแทกมากจึงทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดเข่าเสื่อมได้มากเช่นกัน แต่เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ
มีงานวิจัยในปี 2007 ที่ออกมาตอบเรื่องนี้ เป็นงานวิจัยที่ทำการศึกษาผู้สูงอายุ 1279 คน ในเมือง Framingham พบว่า กิจกรรมต่างๆ ทั้งเดิน จ็อกกิง หรือการออกกำลังกายอื่นๆ ไม่ได้มีผลทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นหรือน้อยลง การวิจัยนี้เก็บข้อมูลนานถึง 9 ปี โดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยใช้ชีวิตตามปกติ แตกต่างแค่วิธีการออกกำลังกายเท่านั้น
ปีต่อมาก็มีงานวิจัยที่ทำในนักวิ่งระยะไกล ปรากฏว่าได้ผลเช่นเดียวกัน งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลในการวิจัยนานกว่า 18 ปี พบว่า นักวิ่งระยะไกลไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้วิ่งเลย แต่น้ำหนักตัวต่างหากที่เป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง
หลังจากนั้นก็ยังมีงานวิจัยอีกหลายๆ ฉบับที่ได้ผลลัพธ์ไปในทางเดียวกัน แต่ในปี 2013 มีงานวิจัยขนาดใหญ่มากของ Paul Williams ที่ทำในนักวิ่งถึง 74,752 คน เทียบกับคนที่ออกกำลังกายด้วยการเดิน 14,625 คน พบว่า ในคนที่วิ่งมากกว่าประมาณ 2 กิโลเมตรต่อวัน จะมีอัตราการเกิดข้อเสื่อม "ลดลง" โดยผู้วิจัยพบว่า สาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดข้อเข่าเสื่อมเหมือนๆ กับงานวิจัยก่อนหน้า คือ การที่มีน้ำหนักตัวมาก แต่นักวิ่งส่วนใหญ่นั้นน้ำหนักตัวจะน้อยกว่า จึงไม่ค่อยพบปัญหาข้อเข่าเสื่อมในกลุ่มนักวิ่งที่น้ำหนักตัวน้อย
แต่ถ้าถามว่า เราเจออาการปวดเข่าในนักวิ่งได้บ่อยจริงหรือไม่ ต้องตอบว่าจริง อาการปวดเข่าในนักวิ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในการบาดเจ็บทั้งหมด มักจะเกิดจากการเพิ่มระยะ เพิ่มความเร็วมากเกินไป หรือท่าวิ่งที่ก้าวยาวมากเกินไป จนเข่ามีแรงกระแทกมากๆ ซึ่งอาการปวดนี้ไม่ใช่ข้อเข่าเสื่อม ส่วนใหญ่เกิดจากอาการอักเสบของผิวกระดูกอ่อนใต้ลูกสะบ้า ถ้าแก้ไขอย่างถูกต้อง ออกกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเพียงพอ จะทำให้อาการปวดนี้หายไปได้
สรุปว่า การวิ่งไม่ได้ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้น แถมยังช่วยป้องกันอีกด้วย แต่น้ำหนักตัวที่สูงต่างหาก ที่ทำให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อม ต่อไปถ้ามีใครเตือนเราเรื่องนี้อีกก็บอกได้ว่า ไม่จริง มีงานวิจัยยืนยัน
ข้อมูลจาก
นายแพทย์ภัทรภณ อติเมธิน
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู